เพื่อผลักดันการวิจัยขั้นแนวหน้าบนฐานของเทคโนโลยีอวกาศ โดยบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาในการสร้างและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศจึงจำเป็น ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความเป็นเลิศด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในอวกาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศนำไปสู่การเป็นเจ้าของและผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ตามยุทธศาสตร์ที่ 3 ในแผนงานที่ P19 ที่ระบุถึงความจำเป็นของประเทศต่อการพัฒนาและสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมอวกาศ และแผนงานสำคัญ F11 ที่เน้นการประยุกต์ใช้และต่อยอดด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology)
ตามที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการร่วมกับประชาคมในการจัดทำแผนที่นำทางระบบโลกและอวกาศ ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ดังนั้นวัตถุประสงค์ของข้อเสนอโครงการนี้ เน้นที่การต่อยอดงานดังกล่าว โดยเน้นการวางกรอบการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนที่นำทาง ฯ อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยในการติดตามสถานะการดำเนินงานตามแผนที่นำทาง ฯ รวมถึงสถานะของแผนที่นำทางจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ
Frontier Research
การวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ
![]() |
Upstreamการผลิตชิ้นส่วนอวกาศ ซึ่งครอบคลุมการออกแบบ การประกอบ และการทดสอบสำหรับน้ำหนักบรรทุก โครงสร้างและระบบขับเคลื่อนของดาวเทียมและยานอวกาศ รวมถึงการผลิตส่วนภาคพื้นดินซึ่งครอบคลุมเครือข่ายของสถานีภาคพื้นดินและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ |
![]() |
Downstreamโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศและผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและสัญญาณดาวเทียมโดยตรงในการดำเนินงานรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ทั้งการสังเกตการณ์โลก การสื่อสารดาวเทียม การพยากรณ์สภาพอากาศระบบนำทาง และบริการต่าง ๆ |
![]() |
Space-derived activities (Spillover effects to other industries)นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นเพื่องานวิจัยทางอวกาศ เช่น ยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยตนเอง เทคโนโลยีการผลิตในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง เป็นต้น |



รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี
หัวหน้าโครงการ
หัวหน้าคณะนักวิจัยและปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร. ธันยวัต สมใจทวีพร
นักวิจัยโครงการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ดร. วิรินทร์ สนธิ์เศรษฐี
นักวิจัยโครงการ
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ผศ.ดร. วราภรณ์ นันทิยกุล
นักวิจัยโครงการ
คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ดร. โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์
นักวิจัยโครงการ
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ดร. บุญเกียรติ เอี้ยววงษ์เจริญ
นักวิจัยโครงการ
เทคโนโลยีและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ดร. นวฤกษ์ ชลารักษ์
นักวิจัยโครงการ
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรือเอกธีรศักดิ์ ปัญญาภีรวัฒน์
นักวิจัยโครงการ
กลุ่มวิจัยระบบนิเวศโลกและอวกาศ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นาย ภวัต ตันสุรัตน์
นักวิจัยโครงการ
เทคโนโลยีและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการตามข้อกำหนดของ สกสว.
1. กรอบการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ
2. แผนที่นำทางฯ นี้ จะเน้นการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาดาวเทียมจากผลงานวิจัยฝีมือคนไทยดวงแรกของประเทศที่จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยมีการระบุเป้าหมายย่อยในแต่ละช่วงเวลา (pathway targets)
3. การศึกษาสถานภาพการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศรวมถึงเครือข่ายนักวิจัย (Social Network Analysis)
4. ข้อเสนอประเด็นสำคัญเชิงนโยบายและแนวทางการดำเนินการยกระดับขีดความสามารถทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ
5. แนวทางในการติดตามความก้าวหน้าของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้มีการทบทวน และระบุสถานะของแผนที่นำทางในแต่ละช่วงเวลาที่เหมาะสม
6. การนำเสนอผลการศึกษาในรูปแบบ Virtual Exhibition for National Technology Roadmaps
Workshop Plan
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1
มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศของประเทศไทยร่วมถึงเครือข่ายนักวิจัย
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2
มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายของการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลา (Pathway) และวิเคราะห์จัดทำร่างแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศของประเทศไทยรวมถึงเครือข่ายนักวิจัย (ภายในเมษายน พ.ศ. 2567)
การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3
มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศของประเทศไทย พร้อมรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนทัศนคติกับผู้เชี่ยวชาญ (ภายในมิถุนายน พ.ศ. 2567)
สรุปผลการวิเคราะห์จัดทำแผนที่นำทางฯ
การผลักดันการวิจัยขั้นแนวหน้าบนฐานของเทคโนโลยีอวกาศ โดยการบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศถือเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในอวกาศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศ อันจะนำไปสู่การเป็นเจ้าของและผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะนักวิจัยของหน่วยปฏิบัติการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TIME Labs) ดำเนินการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศภายใต้ชื่อ “โครงการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ (System Design Supporting Roadmap Development for Earth Space System Frontier Research)” ตามสัญญาเลขที่ ORG66OS002 รายงานฉบับนี้เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการ โดยประกอบด้วยเนื้อหาระบุถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม สถานการณ์ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมในตลาดโลกและภายในประเทศ รวมถึงกรอบแนวคิดการออกแบบโครงสร้างของแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะวิเคราะห์จัดทำที่จะพัฒนา เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ และผลลัพธ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังเติบโต โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีอวกาศได้ แต่ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอวกาศเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จากการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับนักวิจัย วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในประเทศ ได้มีข้อสรุปในการกำหนดขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศไทย (Thailand Competency Domain) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการประเมิณขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเทียบกับนานาชาติ โดยแบ่งเป็น 12 ด้าน ได้แก่ 1) ความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ 2) ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ โครงสร้างและกลศาสตร์ 3) ความเชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมการบินและการเคลื่อนตัวในอากาศ 4) ความเชี่ยวชาญด้านระบบจัดเก็บและจ่ายพลังงานสำหรับดาวเทียม 5) ความเชี่ยวชาญด้านคลื่นวิทยุและอุปกรณ์ทางแสง 6) ความเชี่ยวชาญด้านการดำรงชีวิตในอวกาศ ระบบหุ่นยนต์ และระบบการทำงานอัตโนมัติ 7) ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการนำส่งจรวดและการขนส่งอุปกรณ์ในอวกาศ 8) ความเชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมและสื่อสารภาคพื้นดิน 9) ความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีข้อมูลดิจิตอล 10) ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบวงโคจรของวัตถุในอวกาศ 11) ความเชี่ยวชาญด้านสภาพอวกาศ และการเฝ้าระวังภัยจากอวกาศ 12) ความเชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์และการทดลองในอวกาศ
และได้มีการประเมินขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศไทยในด้านต่างๆ พบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถที่โดดเด่นด้านวัสดุศาสตร์ โครงสร้างและกลศาสตร์, ด้านระบบจัดเก็บและจ่ายพลังงานสำหรับดาวเทียม และด้านการใช้เทคโนโลยีข้อมูลดิจิตอล ซึ่งหากมีการพัฒนาต่อยอดอย่างเป็นระบบจะสามารถนำประเทศไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกันนี้ยังได้มีการออกแบบแผนที่นำทางร่วมกันโดยใช้ขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศไทยเป็นแกนหลักในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่มีความเหมาะสมครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) 3 ด้านคือ 1) Upstream เพื่อการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ 2) Downstream เพื่อนำข้อมูลและเทคโนโลยีจากอวกาศกลับมาใช้บนโลก และ 3) Spillover เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรายล้อมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศกับอุตสาหกรรมอื่น และกำหนดภารกิจสำคัญ (National Mission) ที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ กำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆในประเทศร่วมกัน โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวดังนี้
ระยะสั้นในปี พ.ศ. 2568 – 2569 ภารกิจหลักของประเทศควรมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ โดยเริ่มจากการพัฒนาดาวเทียม Nano Satellite ขนาด 6U ในประเทศ โดยพัฒนาอุปกรณ์ประกอบเองภายในประเทศ (Local Content) ที่ประมาณ 30% โดยชิ้นส่วนที่จะเป็นเรือธงสำคัญในด้านอุปกรณ์ (Hardware) ช่วงแรกคือระบบบริหารจัดการและเก็บพลังงานไฟฟ้า (Electrical Power System หรือ EPS) และในส่วนซอฟต์แวร์คือ โปรแกรมควบคุมการบิน (Flight Software) สำหรับควบคุมการทำงานของดาวเทียม ในส่วนการใช้องค์ความรู้จากอวกาศบนพื้นโลกควรมุ่งเน้นการพัฒนาและนำข้อมูลสภาพอวกาศมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและฝุ่นควันมลพิษ และถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ในอวกาศ (Space Grade) ให้แก่ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมในประเทศ
ระยะกลางในปี พ.ศ. 2570 – 2571 ควรมุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดและขยายผลจากระยะแรกอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาดาวเทียม Nano Satellite ขนาด 6U ดวงที่ 2 โดยยกระดับชิ้นส่วนดาวเทียมที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้เพิ่มเป็น 60% โดยอุปกรณ์ที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้เองคือ Onboard Computer (OBC) ที่เป็นหัวใจหลักในการควบคุมดาวเทียม และระบบการปรับเอียงตัวของดาวเทียม (Attitude Determination and Control System หรือ ADCS) พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีรายล้อมอื่นที่สำคัญควบคู่กันไป
ระยะยาวในปี พ.ศ. 2572 – 2575 พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และกำลังคนเพื่อไปสู่โจทย์สำคัญของประเทศคือการพัฒนาดาวเทียมขนาด Micro Satellite น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ขึ้นเองในประเทศโดยอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากการพัฒนาดาวเทียม Nano Satellite ขนาด 6U ที่ผ่านมา ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานในการทดสอบดาวเทียมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (National Assembly Integration and Test: AIT) ในการพัฒนาและทดสอบอุปกรณ์ประกอบต่างๆที่พัฒนาขึ้นเอง อาทิ ระบบบริหารจัดการและเก็บพลังงานไฟฟ้า (Electrical Power System หรือ EPS),โปรแกรมควบคุมการบิน (Flight Software), Onboard Computer (OBC), ระบบการปรับเอียงตัวของดาวเทียม (Attitude Determination and Control System หรือ ADCS) รวมถึงเซนเซอร์และ Payload เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ อาทิ กล้องถ่ายภาพแบบหลายช่วงคลื่น (Hyperspectral Imager) หรือ อุปกรณ์ตรวจวัดรังสีคอสมิกในอวกาศ
พร้อมกันนี้ทีมวิจัยยังได้รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่สำคัญจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendations) ในการบริหารจัดการโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างจากโครงการวิจัยทั่วไป โดยแบ่งเป็น 4 ด้านได้แก่ 1) ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาโครงการวิจัย 2) ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนากำลังคน 3) ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และ 4) ข้อเสนอแนะเพื่อการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ